เผยเทคนิคปลดล็อคศักยภาพของ AI ด้วย Blitzscaling! ให้ธุรกิจพุ่งทะยานไปไกลกว่าเดิม

Blitzscaling คือกลยุทธ์เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเน้นการขยายกิจการให้เร็วที่สุดในระยะอันสั้น เพื่อสามารถครองตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยกลยุทธ์นี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายครั้งแรกโดย “รีด ฮอฟฟ์แมน” (Reid Hoffman) นักลงทุนและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง LinkedIn ที่ประยุกต์ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ทั้งในการลงทุน อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมเติบโตอย่างเร่งสปีด ซึ่งการเติบโตที่รวดเร็วนี้จะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถครองตลาดได้ก่อนที่คู่แข่งจะตามทัน และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่สูงมากกว่า

Image by Freepik

อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในการทำให้กลยุทธ์นี้กลายเป็นเฟรมเวิร์คที่ใช้งานได้จริงมากที่สุดคือ “คริส เยห์” (Chris Yeh) โดยสิ่งที่เขาทำร่วมกับรีด คือการแปลงสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่องค์กรสามารถนำไปใช้งานได้จริง และจัดทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้คนที่ต้องการสร้างและขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์นี้ให้เป็นไปในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่แค่เพียงทำอย่างรวดเร็ว แต่ต้องเป็นไปอย่างมีเป้าหมายและแผนที่ชัดเจนด้วย

การมาถึงของกลยุทธ์ Blitzscaling ได้สร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ให้กับองค์กรต่างๆ และโลกธุรกิจมากมาย เช่น ทำลายขนบของธุรกิจแบบเดิมทิ้งไปแทบทั้งหมด สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา รวมถึงปลดล็อคศักยภาพการทำงานของเทคโนโลยีให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังสร้างงานใหม่ ๆ และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างบริษัทที่หยิบเอาแนวคิด Blitzscaling มาช่วยในการทำงาน

Image by Airbnb

มีหลายบริษัทที่ประยุกต์ใช้ Blitzscaling ในการขยายธุรกิจ เช่น Airbnb ที่มีการใช้กลยุทธ์นี้ในการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสปีดการเติบโตมากกว่าประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ โดย Airbnb ที่ต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในช่วงเริ่มต้น ทั้งการขาดความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค และกฎหมายที่คอยขวางธุรกิจ ทำให้ Brian Chesky, Joe Gebbia และ Nathan Blecharczyk สามผู้ก่อตั้งของบริษัทตัดสินใจมุ่งกลยุทธ์มาที่การสร้างการเติบโต โดยลงทุนในด้านการตลาดและการหาผู้ใช้งานใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาจัดสรรงบสำหรับโฆษณาและการทำโปรโมชั่นเป็นค่าใช้จ่ายหลัก รวมถึงการบุกเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ทั้งที่ยังไม่เข้าใจกฎหรือข้อบังคับของพื้นที่นั้นเป็นอย่างดี

และจากการกล้าลองและกล้าเสี่ยงของพวกเขานี่เอง ที่ทำให้ท้ายที่สุดกลยุทธ์ Blitzscaling ที่บริษัทใช้ได้ผลิดอกออกผลเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ที่ทำให้มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของพวกเขาหลายล้านคนในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงสามารถยึดครองตลาดใหม่ ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรปจนสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมหาศาล

ทุกวันนี้ Airbnb กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและมีมูลค่าสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการ โดยมีมูลค่าประเมินอยู่ที่มากกว่า 80,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ และมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 150 คนในกว่า 100 ประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ Blitzscaling ของ Airbnb ก็มีอีกด้านที่ทำให้บริษัทถูกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงเกิดปัญหาหลายประการ เช่น เรื่องความปลอดภัยในการเข้าใช้บริการ การละเมิดกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ

แต่แม้จะเผชิญกับปัญหาหลายอย่างจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น แต่มันก็ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จและเอาชนะตลาดได้จริง จึงอาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์นี้ถือเป็นดาบสองคมที่แล้วแต่ผู้ใช้จะควบคุมและจัดการมันอย่างไร

นอกจาก Airbnb แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่นำเอากลยุทธ์นี้ไปใช้จนประสบความสำเร็จล้นหลาม เช่น Uber ที่เร่งขยายตลาดไปยังเมืองและประเทศต่าง ๆ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎหมายหลายประการ หรือ LinkedIn ที่รีดเป็นผู้ก่อตั้ง ก็นำกลยุทธ์นี้มาใช้ โดยเปลี่ยนจากการเน้นขยายฐานผู้ใช้งานในซิลิคอน แวลลีย์เป็นการขยายไปทั่วโลก จนสามารถปักธงในฐานะของแพลตฟอร์มด้านการเน็ตเวิร์คกิ้งอันดับหนึ่งได้ และยังมีอีกหลายบริษัทที่ประยุกต์เอากลยุทธ์นี้มาใช้จนประสบความสำเร็จ เช่น Dropbox และ Twitter เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวคิด Blitzscaling อาจไม่ได้เหมาะสมกับบริษัททุกรูปแบบ ด้วยความเสี่ยงในการตัดสินใจที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บริษัทที่จะนำกลยุทธ์นี้ไปใช้จึงต้องพิจารณาถึงพื้นฐานของบริษัทตนเองให้ดีว่ามีโครงสร้างที่พร้อมต่อการนำกลยุทธ์นี้ไปใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากนำไปใช้โดยขาดการประเมินโดยถี่ถ้วน ก็อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางลบหลายประการ เช่น ภาวะฟองสบู่ หรือภาวะการผลิตล้นตลาด (Market Saturation) ได้

Blitzscaling กับการลงทุน

Photo by Aidan Hancock on Unsplash

Blitzscaling กลายเป็นหนึ่งในหลักคิดที่เสริมให้นักลงทุนกล้าในการให้โอกาสกับธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ด้วยแนวคิดว่า หากพวกเขาก้าวเข้ามาเป็นผู้ลงทุนกลุ่มแรก ๆ จะสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็วหลังจากธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สามารถเอาชนะตลาดได้ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของกลุ่มนี้ คือการเลือกบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูงและมีรูปแบบธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงมีโอกาสเข้ามาดิสรัปตลาดเดิมได้จริง อีกทั้งยังเจาะจงไปยังกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเกิดใหม่ ที่ยังสามารถหาโอกาสจากตลาดที่ยังขยายไปได้ไม่กว้างมาก และยังมีศักยภาพมากพอในการชิงพื้นตลาดนั้นได้

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์การลงทุนในบริษัทอย่าง Uber หรือ Airbnb ในระยะเริ่มต้น (Early stage) เพื่อสามารถทำกำไรจากมันได้อย่างรวดเร็วจากการที่พวกมันขยายตัวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่ปี ก่อนจะก้าวขึ้นขึ้นสู่การเป็นผู้นำของตลาดได้ในที่สุด เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มองหาเทคโนโลยีเกิดใหม่ อย่าง AI, บล็อคเชน (Blockchain) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum computing) ที่อาจจะได้ผลลัพธ์ทางกำไรที่เติบโตมหาศาล หากพวกมันสามารถเอาชนะตลาดเดิมได้ในที่สุด

หนึ่งในคนที่สามารถเอาวิธีนี้มาใช้ในการลงทุนได้เป็นอย่างดีคือ “รีด ฮอฟฟ์แมน” ที่สามารถนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาเลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ลงทุนกลุ่มแรกของ Facebook และเป็นผู้นำนักลงทุน Series A ของ Airbnb และผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ลงทุนกลุ่มแรกและคณะกรรมการบอร์ดของ OpenAI ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ChatGPT ที่กำลังเข้ามาปฏิวัติทุกวงการในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม การนำกลยุทธ์นี้มาใช้ในการลงทุนรูปอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เนื่องด้วยมีความเสี่ยงหลายประการที่มีโอกาสเกิดขึ้น นักลงทุนจึงควรจะค่อย ๆ ประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับไหวก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนด้วยวิธีนี้

Blitzscaling กับการปลดล็อคศักยภาพของ AI

Image by Freepik

การนำเอากลยุทธ์ Blitzscaling มาผสานรวมกับศักยภาพของ AI จะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทแบบก้าวกระโดดมากกว่าเดิม โดยมันสามารถช่วยให้บริษัทสามารถจัดการงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เช่น การช่วยให้บริษัทสามารถจัดการงานประเภทที่เป็นรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม (Repetitive task) เพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถไปเน้นที่งานเชิงกลยุทธ์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล และสามารถช่วยจำแนกข้อมูลเชิงลึกประเภทพฤติกรรมลูกค้า ภาพรวมของตลาด หรืออื่น ๆ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และสามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรในส่วนใดได้บ้าง รวมถึงยังช่วยเรื่องกระบวนการแจ้งเตือนหรือคาดการณ์ก่อนที่ระบบหรืออุปกรณ์ใดๆ จะเสียหายได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรประหยัดเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการบริหารสิ่งเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ AI ยังช่วยในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กร เช่น การช่วยให้องค์กรสามารถทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล หรือ Personalization Marketing ได้ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวได้ดีมากขึ้น โดยสิ่งนี้อาจเป็นรูปแบบการใช้ Chatbot หรือวิธีอื่น ๆ ได้ หรืออาจช่วยในการดึงดูดบุคลากรมากความสามารถ เช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์ใบสมัครของผู้สัมภาษณ์ เพื่อช่วยให้องค์กรหางานได้ตรงกับที่ตนเองต้องการมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ในงานเสวนาออนไลน์ “RISE Fireside Chat ตอน Supercharge Your Blitzscalability with the Power of AI” หมอคิด-ศุภชัย ปาจริยานนท์และคริส เยห์ (Chris Yeh) ผู้เขียนหนังสือ “Blitzscaling” และผู้ก่อตั้ง “Blitzscaling Academy” ได้พูดคุยถึงประเด็นของการนำ AI มาใช้ปลดล็อคศักยภาพของธุรกิจ รวมถึงการผนวกเอามันมาช่วยทำให้การใช้กลยุทธ์ Blitzscaling ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นกว่าเดิม

และนี่คือ Key Takeaway ของเซสชั่นนี้กับ 5 ข้อที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับการปลดล็อคศักยภาพของ AI ด้วย Blitzscaling

AI จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรามีทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวที่ดีขึ้น

Image by javi_indy on Freepik

ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการผลักดันให้กลยุทธ์ Blitzscaling สร้างผลลัพธ์ได้จริงคือโอกาสทางธุรกิจหรือการลงทุน ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยหากเรามองย้อนกลับไปมองการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์และทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแบบพลิกไปจากเดิมอย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เราก็สามารถมอง AI แบบเดียวกันในฐานะเทคโนโลยีที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาสลและกำลังกลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกธุรกิจ ไม่ต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อน ๆ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากความพยายามของมนุษย์ในการแสวงหานวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้น เช่น เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า เครื่องบิน ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน AI อาจไม่ได้ดีหรือซับซ้อนเหมือนสมองมนุษย์ แต่มันสามารถช่วยเราทำงานพื้นฐานหลาย ๆ อย่างได้ เพื่อให้เราสามารถจดจ่อกับงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเรามากขึ้น

AI จะช่วยให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น แต่สุดท้ายมนุษย์ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองอยู่ดี

หลังเข้าใจว่า AI จะมาช่วยจัดการงานประเภทที่น่าเบื่อและซ้ำซากขององค์กรได้อย่างไรบ้างแล้ว คำถามต่อไปคือ แล้วธุรกิจต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้ AI มาช่วยจัดการงาน โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียคุณภาพ หรือมีประสิทธิภาพลดลง?

เรื่องนี้คริสให้ข้อมูลกับเราไว้ว่า ก่อนอื่นเราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า AI จะเข้ามาทดแทนการทำงานของเราในรูปแบบใดบ้าง เพื่อจะได้ประยุกต์และปรับการใช้งานมันได้อย่างเหมาะสม โดยรูปแบบงานประเภทที่ AI ทำได้ดีมากในปัจจุบัน คืองานเฉพาะทางที่ต้องใช้ความพยายามสูง เช่น การค้นคว้าหาข้อมูล เพราะรูปแบบการฝึก AI คือการให้มันรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และสังเคราะห์ออกมาให้เป็นไปตามคำสั่งที่เราใช้

อย่างไรก็ตาม ถึงมันจะมีความเก่งกาจในการค้นคว้าข้อมูลมากแค่ไหน แต่มันกลับไม่สามารถช่วยเราในเรื่องการตัดสินใจได้มากนัก เพราะส่วนนั้นถือเป็นงานสำคัญที่มนุษย์ต้องทำด้วยตนเอง โดยคริสได้ยกตัวอย่างการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ที่เมื่อผิดพลาดแล้วส่งผลกระทบต่อสถานะของบริษัทในภายหลังอย่างรุนแรงอย่างในกรณีของ Kodak ที่ยึดติดแค่เพียงกับกล้องฟิล์มจนละเลยการพัฒนากล้องดิจิทัล จนถูกดิสรัปและหายไปจากตลาดในช่วงหนึ่ง หรือกรณีของ Blockbuster ที่ปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการ Netflix จนสุดท้ายถึงขั้นทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นต้น

การตัดสินใจเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจแทบทั้งหมด แต่ในขั้นที่ผู้ตัดสินใจต้องเลือกว่าจะเดินไปทิศทางไหน ต้องอาศัยดุลยพินิจและความสามารถส่วนตัวทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ AI โดยเฉพาะ ChatGPT จะเข้ามาช่วยเราได้มากที่สุดคือเรื่องการหาข้อมูล และยิ่งเมื่อนำสิ่งนี้มาผนวกกับอีกหนึ่งจุดเด่นของมันคือการทำงานได้เร็ว ในราคาที่ถูกมาก ก็ยิ่งทำให้เราสามารถใช้มันในการหาข้อมูลเพื่อนำมาคิดต่อยอด หรือทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้อีกหลายอย่าง

Image by frimufilms on Freepik

ทั้งนี้ คริสยังได้เล่าถึงมุมมองของรีดว่าให้มอง ChatGPT เป็นเหมือนผู้ช่วยในการทำวิจัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ คือแต่ฉลาดและขยันที่จะออกไปค้นหาข้อมูลมาให้ แต่ยังคงขาดประสบการณ์ และยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ประโยชน์ของพวกมันคือการทำงานอย่างหนักได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากอยากปลดล็อคศักยภาพของ AI ต้องเข้าใจวิธีการทำงานของมันให้ถูกต้องเสียก่อน

เมื่อทุกคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะใช้ AI ในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมต่อธุรกิจ โดยที่การทำงานจะไม่สูญเสียคุณภาพหรือมีประสิทธิภาพลดลงไป คำถามต่อไปคือ แล้วความท้าทายในการใช้งาน AI โดยเฉพาะประเภท Generative AI อย่าง ChatGPT คืออะไร?

คริสได้อธิบายว่า ความเข้าใจผิดลำดับแรกที่มักเกิดขึ้นคือ คนยังไม่เข้าใจการทำงานของ AI อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจหลักการของมัน ที่ทำงานด้วยการนำแพทเทิร์นต่าง ๆ มาจับคู่กัน (Pattern Matching Tool) เช่น การรวบรวมจากฐานข้อมูลอื่นอีกทีหนึ่ง แล้วจึงนำผลลัพธ์มาเสนอต่อผู้ใช้งาน แต่สิ่งที่ ChatGPT ยังทำไม่ได้คือการเสนอแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะความสามารถของมันจำกัดเพียงแค่เรียบเรียงสิ่งที่มีอยู่แล้วและจัดวางใหม่ในรูปแบบอื่นที่ดีมากขึ้น

คริสยังอธิบายต่อไปอีกว่า หากเราเข้าใจการทำงานของมันอย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถทำให้ศักยภาพการทำงานของมันดีมากขึ้นได้ อีกทั้งยังมีส่วนทำให้การออกแบบและพิมพ์คำสั่งหรือ Prompt Engineering เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น

สำหรับองค์กรต่างๆ การเข้ามาของ Generative AI รูปแบบนี้ จะมีผลต่อองค์กรในหลายรูปแบบ เช่น การจัดโครงสร้างองค์กรในรูปแบบใหม่ ที่ต้องมีคนมาทำงานด้านการดูแลชุดคำสั่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจส่งผลให้ทักษะนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งสายงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรในองค์กร ที่อาจมีการบันทึกชุดคำสั่ง (Prompt) ที่ใช้งานบ่อย ๆ และแจกจ่ายให้กับบุคลากรใช้งาน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจการทำงานได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น สามารถสั่งให้ ChatGPT เขียนอีเมล ช่วยค้นหาข้อมูล และจัดการงานธุรการอื่น ๆ ให้ได้ โดยหากองค์กรไหนสามารถทำเรื่องนี้สำเร็จได้ก่อน ก็มีโอกาสในการก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคู่แข่ง

Image by Freepik

หนึ่งในองค์กรที่นำเอา Generative AI มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบคือ “HubSpot” ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการทำ Inbound marketing ชั้นนำของโลก โดยก่อนหน้านี้ไม่นานพวกเขาได้ปล่อยวิดีโอที่แสดงให้เห็นการใช้งาน ChatGPT ในแพลตฟอร์มของพวกเขา ซึ่งมันมาช่วยตั้งแต่เขียนอีเมลถึงลูกค้าไปจนถึงติดตามผลลัพธ์ของงานเหล่านั้น ทำให้พวกเขาสามารถจัดการงานที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเรื่องซ้ำซากและน่าเบื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

โดยหลังจากที่ HubSpot ได้เชื่อมต่อ ChatGPT เข้าไปในระบบ ทำให้ทุกเช้าพวกเขาสามารถสั่งให้มันช่วยเขียนอีเมลสำหรับลูกค้ามากกว่า 27 คน อีกทั้งยังสามารถกดส่งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งระบบการทำงานแบบนี้ไม่จำกัดแค่เพียงในแฟลตฟอร์มอย่าง HubSpot เท่านั้น แต่เรายังสามารถปรับใช้วิธีการ Blitzscaling ด้วย AI รูปแบบนี้ไปกับการทำ CRM อีกหลายรูปแบบ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกว่าที่ยกตัวอย่างมามาก

คริสยังวิเคราะห์ให้ฟังต่อไปว่า สาเหตุหลักที่ ChatGPT เป็นผู้ทำงานที่เหมาะสมเป็นเพราะงานเหล่านี้ไม่ใช่งานที่ต้องใช้ภาษาสละสลวยมากนัก ขอแค่เพียงกระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย และสื่อสารได้ครบถ้วนก็เพียงพอแล้ว และเมื่อผนวกกับความสามารถในการทำซ้ำได้อย่างแม่นยำและไม่มีวันรู้เบื่อของมัน ก็ยิ่งทำให้มันสามารถช่วยเหลือในการจัดการงานประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยากจะหาคนมาแทนที่

ทดลอง ทดลอง ทดลอง เท่านั้นคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพของ AI!

สำหรับในข้อนี้ คริสบอกเอาไว้ด้วยประโยคที่เรียบง่ายว่า “Experimentation is the key” โดยคริสเล่าย้อนไปถึงตอนที่เขาเดินทางมาสอนคลาส The MasterClass-Blitzscaling ร่วมกับ RISE เมื่อปีที่ผ่านมา โดยตอนนั้นเขาใช้ DALL-E ซึ่งเป็น AI สำหรับสร้างภาพวาดรูปแบบต่าง ๆ ที่ในเวลานั้นเพิ่งเปิดตัวใหม่ได้ไม่นาน มาเป็นเครื่องมือในการทำภาพประกอบสำหรับสไลด์ที่เขาใช้สอนในห้องเรียน ซึ่งคริสเล่าให้ฟังว่า ณ เวลานั้นสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และมีน้อยคนมากที่จะใช้งานมันได้เป็นเหมือนเขา แต่เพียงแค่ 8 เดือนหลังจากนั้น ผู้คนกลับเริ่มใช้ AI ตัวดังกล่าวในการทำภาพรูปแบบต่าง ๆ อย่างจริงจัง จนกลายเป็นอีกหนึ่ง AI ที่มาแรงเป็นอย่างมาก

ส่วนหนึ่งที่คริสพูดถึงเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การทดลองด้วยตัวเองจะช่วยทำให้เราเข้าใจการทำงานของมันได้อย่างดีที่สุด โดยเขาอธิบายต่อไปว่า ในเวลานี้มีเพียงไม่กี่บริษัทบนโลกที่มีทรัพยากรมากพอในการพัฒนา AI ให้ได้ถึงระดับนี้ การจะอยู่รอดในยุคปัจจุบันจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพาบริการของบริษัทเหล่านี้ โดยแม้จะมีความพยายามพัฒนา AI ตัวอื่น ๆ มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพตามหลังผู้ครองตลาดอยู่อีกไกล อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดที่เล้กกว่าก็อาจจะพัฒนา AI ของตนให้มีลักษณะเฉพาะทางมากขึ้นได้

Image by Freepik

โดยสิ่งสำคัญที่คริสเน้นย้ำคือการทดลองใช้เวลากับมันให้มากที่สุด เพื่อทำความรู้จักมันให้ครบทุกด้านมากเท่าที่เราจะทำได้ โดยเขาได้ยกตัวอย่างกฎทำน้อยแต่ได้มากในรูปแบบแบบ 80/20 หรือ Pareto Principle และแนะนำให้ทุกคนได้ลองใช้ AI ด้วยตัวเองมากที่สุด เพื่อดูว่ามันช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้จริงหรือไม่ หรือหาคนที่ทำอะไรคล้าย ๆ กัน มาเป็นแนวร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้

หากอยากคิดแบบ Blitzscaling โดยมี AI เป็นเครื่องมือ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้เร็ว

ในโลกของ AI ใครก็ตามที่ครองส่วนแบ่งตลาดได้ก่อน มีแนวโน้มจะครองความได้เปรียบไปได้อย่างน้อยก็อีกในระยะใหญ่ เพราะยิ่งมีคนใช้บริการมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่ผลิตภัณฑ์จากเจ้าอื่นจะแทรกเข้ามาแข่งขันได้ นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้เราเห็นบริษัทใหญ่ๆ แย่งกันเพื่อเป็นเจ้าตลาดนี้ และยิ่งทำให้ระยะห่างถ่างออกมากขึ้น และยากที่จะมีบริษัทขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพที่มีทรัพยากรมากพอจะแทรกตัวเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบได้ วิธีคิดในการเติบโตและครองตลาดอย่างรวดเร็วแบบนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์แบบ Blitzscaling ที่หลายบริษัทกำลังใช้อยู่

โดยในตอนนี้ OpenAI คือรายแรกที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการมาถึงของ ChatGPT ที่ส่งผลต่อตลาดสูงมากจนทำให้แม้แต่ Google ยังต้องเร่งพัฒนา AI ของตัวเองที่ชื่อว่า “Brad” เข้ามาแข่งขัน รวมถึง AI กลุ่มประเภท Text-to-Image ที่มี DALL-E กับ Midjourney เป็นผู้เล่นหลักในการเข้าครอบครองตลาดในเวลานี้ ซึ่งคริสมองว่า กลุ่ม AI เหล่านี้คือกลุ่มที่จะอยู่ได้ในระยะยาว เนื่องจากเป็น Generative AI ที่ทำงานเฉพาะทางและสามารถเข้าดิสรัปตลาดและครอบครองมันได้ในที่สุด

แต่สำหรับบริษัทที่ขนาดเล็กลงมา หากมองมุมกลับในแง่การประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้ ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตัวเอง เช่น เชื่อมต่อกับ ChatGPT ผ่าน Application Programming Interface หรือ API แบบที่ HubSpot ทำก็สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ไม่ต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์เท่านั้น เพราะในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น กลุ่มสายอาชีพทนายความ ก็จะเห็นได้ว่าทนายที่ใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ก็จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าทนายที่ปฏิเสธการใช้งานมัน ซึ่งประเด็นนี้หมอคิด-ศุภชัยก็ได้เสริมจากสิ่งที่คริสอธิบายว่า การเดินเกมธุรกิจแบบ Winner Takes All อย่างที่คริสพูดถึง ก็ถือเป็นรูปแบบของ Blitzscaling รูปแบบหนึ่งเช่นกัน

หรือแม้แต่ศิลปินหรือดีไซเนอร์ ก็สามารถใช้ความสามารถของ AI ประเภท Text-to-Image เช่น DALL-E ช่วยร่างโครงสร้างให้ ก่อนจะค่อยๆ ผลัดกันช่วยปรับแต่งจนได้งานที่สมบูรณ์แบบออกมา โดยในระหว่างกระบวนการนั้นพวกเขาสามารถใช้ AI ตัวอื่น เช่น ChatGPT มาช่วยสร้างวิธีการออกชุดคำสั่ง หรือ Prompt รวมถึงช่วยแก้คำสั่งต่าง ๆ ได้อีกด้วย

Image by Freepik

หรือแม้แต่แอปพลิเคชั่นประเภทซุปเปอร์แอพ (Super app) ก็จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สามารถนำความสามารถของ AI มาประยุกต์ใช้ในระบบการทำงานของตัวเองได้ เช่น หากเราเป็นแอปเกี่ยวกับแผนที่ ก็สามารถนำ AI มาใช้งานร่วมได้อย่างหลากหลาย เช่น หากอยากออกมาดื่มตอนกลางคืน ตัวระบบก็สามารถช่วยหาให้ได้ว่าร้านรอบ ๆ นั้นร้านไหนที่กำลังมีส่วนลดแบบ Happy Hour อยู่ โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมาค้นหาเอาเอง

สำหรับธุรกิจรูปแบบเดิม หากจะอยู่รอดในยุค AI ครองโลกได้ คริสแนะนำว่า พวกเขามีทางเลือกมีสองทางคือ ต้องปรับตัวตามยุคด้วยการใช้ AI เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำงาน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมั่นใจว่าผลติภัณฑ์ของตนจัดอยู่ในประเภทงานที่มีความพิถีพิถันและส่งผลต่อความรู้สึก หรือมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทพวกแผ่นเสียง ที่แม้จะใหญ่เทอะทะและใช้งานยาก แต่ก็มีคุณลักษณะบางประการที่ไม่สามารถทดแทนได้

บทส่งท้าย

Photo by Medienstürmer on Unsplash

แม้การมาถึงของ AI จะพลิกวงการและปฏิวัติวิธีการทำงานและอาจส่งผลถึงการใช้ชีวิตของผู้คนบนที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่สิ่งนี้ก็ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นและก็ยังเป็นเหมือนกับหลากหลายธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ Blitzscaling คือมันยังคงมีปัญหาบางอย่างที่ยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ประเด็นด้านความปลอดภัยในออนไลน์หรือ Cybersecurity ที่อาจเกี่ยวกันกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเรา ซึ่งประเด็นนี้คริสเองก็ให้ความเห็นไว้ว่า เเป็นความพยายามของสื่อที่พยายามปั่นกระแสมากเกินไป (Overblown) เพราะที่จริงสิ่งนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ หากแต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในยุคแรกที่มนุษย์เริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์กันแล้ว เขาจึงมองว่าสาเหตุหลักไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี หากแต่เป็นผู้ใช้งานเองที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวคริสเองก็เชื่อว่า จะมีการปรับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าที่เป็นในปัจจุบัน และจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่า ในอนาคต หากมีคนวาดรูปในรูปแบบเดียวกับงานของ Rembrandt แล้วนำไปอ้างว่าเป็นงานของ Rembrandt เพื่อการค้า ก็ต้องมีบทลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งจนได้

จึงอาจสรุปได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว AI เองอาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่เกิดขึ้นและมีโอกาสจะมาทำร้ายหรือสร้างความเสียหายแก่มนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์เองที่ต้องมีกรอบข้อห้ามในจิตใจและใช้งานมันอย่างถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจหนีไม่พ้นกับกับดักความโหดร้ายของจิตใจเรา

ติดตามข่าวสารสาระความรู้ส่งตรงถึงอีเมลคุณผ่าน RISE Newsletter พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของ RISE Community และรับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมอีเวนต์ด้านนวัตกรรมสุด Exclusive

--

--

RISE Corporate Innovation Powerhouse

RISE is a leading corporate innovation powerhouse with a mission to drive 1% of South Ease Asia’s GDP.