ส่องมุมมอง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงความยั่งยืน” กับคุณธีธัช รังคสิริ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของ RISE

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change หลาย ๆ คนจะรู้สึกถึง “ความหวาดกลัว” เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และภัยพิบัติอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งในปี 2567 นี้ทางคณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee หรือ IRC) ก็ได้ประกาศว่าโลกได้อยู่ในสภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว จึงทำให้หลาย ๆ องค์กรได้ตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศกันมากขึ้น

เหรียญอีกด้านของวิกฤตคือโอกาสที่ซ่อนอยู่

คำว่าวิกฤตในภาษาจีนจะใช้คำว่า “เวยจี” (危机) ซึ่งประกอบจากคำว่าวิกฤต (เวย) ผสมกับคำว่าโอกาส (จี) แม้จะไม่ได้เป็นการแปลแบบตรงตามความหมายแต่ก็เป็นกุศโลบายในการมองวิกฤตหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ขององค์กรที่ผู้นำและผู้บริหารสามารถใช้ได้จริงอยู่เสมอ ซึ่งการสร้างโอกาสในวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกร้อนนี่เองคือสิ่งที่เราเรียกว่า Climate Action

Climate Action คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ?

Climate Action ในบริบทของผู้บริหารไม่ใช่การรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวแต่คือการบริหารและการจัดความความเสี่ยงที่ส่งผลต่ออนาคตของธุรกิจ ซึ่งจากผลสำรวจองค์กรระดับโลกโดยสมาคมนักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในธุรกิจ (Institute of Management Accountants หรือ IMA) พบว่า 68% ขององค์กรต่าง ๆ ระดับโลกจัดให้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงเป็นความเสี่ยงขององค์กรที่ต้องให้ความสำคัญ และสิ่งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้นำระดับโลกหลาย ๆ ท่านเริ่มหันมาบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศกันอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะสามารถลดความเสี่ยงพร้อมกับสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กรและธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

แล้วความเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

คุณธีธัช รังคสิริ ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพของความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจง่าย เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นถึงผลกระทบต่อธุรกิจและองค์กรในอนาคต ซึ่งคุณธีธัช ได้กล่าวถึงความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศไว้ 4 อย่าง ดังนี้

  1. ความเสี่ยงทางกายภาพ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนตกผิดฤดูกาล อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรและธุรกิจ อาทิ เช่น ภาคการเกษตร การที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นสามารถทำให้ผลผลิตตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้รายได้และการเติบโตของธุรกิจลดลงไปด้วย
  2. ความเสี่ยงจากผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีการตระหนักรู้และทราบถึงปัญหาเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ตัวเลือกในใจของการซื้อสินค้าและบริการมีสัดส่วนของสินค้าที่เป็นมิตรกับโลกเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและนำเสนอสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการออกสินค้าใหม่ การเลือกใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต การสร้างกิจกรรมส่งเสริมความยั่งยืน และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น
  3. ความเสี่ยงระหว่างประเทศ เช่น การตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก ทำให้ธุรกิจและองค์กรทำกำไรได้น้อยลง ปิดกั้นโอกาสและการเติบโตในระยะยาว ดังเช่นในสหภาพยุโรปก็ได้มีการจัดทำแผนตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก หรือ “EU CO2 standards” ซึ่งก็จะมีการปรับใช้ในปี พ.ศ. 2578 นี้ หรืออย่างในประเทศโปรตุเกสก็ได้มีการคิดภาษีเพิ่มเติมสำหรับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ใช้ในร้านค้าอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อโลกสร้างการเติบโตได้ยากขึ้น
  4. ความเสี่ยงจากนักลงทุน ปัจจุบันทิศทางการลงทุนของนักลงทุนเองก็ได้มุ่งไปที่ความยั่งยืนและเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่สัดส่วนการลงทุนจะเน้นไปที่ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำเหมืองแร่ การขุดเจาะ ฯลฯ ซึ่งในวันนี้หากธุรกิจหรือองค์กรไม่สามารถนำเสนอนักลงทุนได้ว่าธุรกิจส่งผลกระทบเชิงบวกและผลกระทบเชิงลบต่อโลกอย่างไร โอกาสที่จะเกิดการร่วมมือและการลงทุนก็จะมีน้อยลงอย่างมาก

เมื่อมีความเสี่ยงเข้ามา ใครมีหน้าที่แบกรับความเสี่ยงเหล่านี้?

“ทุกคนในองค์กรท้ายที่สุดต้องได้รับความเสี่ยง แต่ผู้นำเป็นปราการด่านแรกเสมอ”

ผู้นำหรือผู้บริหารคือปราการด่านแรกของการแบกรับความเสี่ยงขององค์กร ซึ่งเดิมทีแล้วองค์กรอาจจะไม่เคยได้รับความเสี่ยงมาก่อน แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดแรงกระแทกขึ้นมา ผู้นำจะเป็นคนแรกที่จะต้องชี้ว่าเรือจะปรับหางเสือไปทางไหน ในโลกธุรกิจจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าแผนจัดการความเสี่ยง (Business Continuity Plan หรือ BCP) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริหารได้รับมือกับความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้นำและผู้บริหารต้องเขียนไว้ในแผนจัดการความเสี่ยง เพราะ Climate Change ไม่เหมือนกับ Covid-19 ที่อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่เหมือนกับกบในหม้อต้มที่กำลังเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าผู้บริหารรู้เร็วก็จะตัดสินใจได้ว่าจะให้กบอยู่ในหม้อต้มต่อไปหรือให้กระโดดออกจากหม้อ เพราะอีกหนึ่งสิ่งของความเสี่ยงในองค์กรคือการที่ผู้นำไม่รู้ตัวว่าตอนนี้โลกเรากำลังเป็นน้ำที่เดือดอยู่

“เริ่มที่ผู้บริหาร แล้ว Scale ต่อไปที่องค์กร”

เมื่อผู้บริหารรู้ตัวแล้วว่ากำลังมีความเสี่ยงเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับองค์กรและธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงนี้กระทบองค์กรอย่างไร มิติไหนบ้าง และทำไมเราต้องรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้มองหาโซลูชั่นที่ถูกต้องและสามารถส่งต่อให้กับผู้ที่จะได้รับมอบหมายต่อไปได้ โดยคุณธีธัช ได้แนะนำสิ่งที่ผู้บริหารต้องรู้เมื่อต้องการเริ่มต้นทำแผน Climate Action ในองค์กรดังนี้

  1. รู้จักตัวเอง

ก่อนเริ่มทำ Climate Action ผู้บริหารต้องทราบก่อนว่าธุรกิจหรือองค์กรมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อะไรบ้างทั้งที่สร้างผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อโลก เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยตลอดห่วงโซ่อุปทาน การใช้พลังงานในแต่ละหน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงหน่วยกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เป็นต้น

2. รู้วิกฤต

หลังจากนั้นผู้บริหารต้องมาวิเคราะห์ต่อว่าแต่ละหน่วยของห่วงโซ่อุปทานมีจุดไหนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีบ้าง ยกตัวอย่างเช่น สายการผลิตไม่สามารถดำเนินการต่อได้เนื่องจากเกิดภัยแล้ง หรือกลุ่มลูกค้าเดิมหายไปเนื่องจากไม่สนับสนุนสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก เป็นต้น

3. รู้โอกาส

เพราะผลกระทบไม่ได้มีแค่เชิงลบอย่างเดียว ผู้บริหารต้องมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากวิกฤตในหน่วยกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้กลุ่มลูกค้าเดิมหายไปเพราะไม่สนับสนุนสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยอมจ่ายเงินที่เยอะขึ้นเพื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก หรือโอกาสในการสร้างเทคโนโลยีบรรเทาภัยแล้ง การวิจัยบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่เป็นมิตรกับโลกและสามารถทดแทนของเดิมได้ การลงทุนและการร่วมมือกันในธุรกิจด้านความยั่งยืน และโอกาสอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น

“Compliance กับ Beyond Compliance เฟรมเวิร์กที่ผู้นำด้านความยั่งยืนต้องรู้”

Compliance คือ ข้อกำหนดหรือข้อบังคับขององค์กร ซึ่งในบริบทของ Climate Action ก็คือข้อกำหนดของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรทุกคนต้องรู้และปฏิบัติตามเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เช่น มาตรการประหยัดพลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร และนโยบายความยั่งยืนในองค์กรที่ปรับใช้ในทุกระดับขององค์กร เป็นต้น

Beyond Compliance หมายถึงการค้นหาแนวทางใหม่ ๆ หรือ New S-Curve ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อบังคับเดิม ผู้บริหารจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์เพื่อค้นหาว่า องค์กรสามารถนำเสนอสิ่งใดเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น พร้อมกับสร้างพื้นฐานสำหรับการเติบโตขององค์กรในระยะยาว เช่น การเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันผ่านการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน ซึ่ง Beyond Compliance นี้จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนานวัตกรรมและนำเสนอวิธีการใหม่ๆ เพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สิ่งที่ผู้บริหารต้องทำคือการหาสมดุลระหว่าง “Compliance” และ “Beyond Compliance” เพื่อให้องค์กรดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กร ซึ่งการที่ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการระหว่าง Compliance และ Beyond Compliance อย่างเหมาะสมจะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความเสี่ยงพร้อมกับเสริมสร้างการเติบโตและความยั่งยืนในองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ความยั่งยืนไม่ใช่ตัวเลือก แต่คือสิ่งจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องมี”

ไม่มีผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนคนไหนอยากให้บริษัทไม่มีแผนบริหารและจัดการความเสี่ยง ซึ่งความยั่งยืนหรือ Sustainability เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติขององค์กรและธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) แต่ครอบคลุมไปถึง สังคม (Social) และ ธรรมภิบาล (Governance) หากมองในมุมมองของนักลงทุน ทุกคนก็คงอยากจะให้บริษัทมีแผนรับรองว่าการลงทุนจะไม่เสียหายหรือมีความเสี่ยงต่ำที่สุดเท่าที่องค์กรจะสามารถบริหารได้ และท้ายที่สุดคือเงินลงทุนจะสามารถเติบโตได้อย่างไรบ้างในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้าง New S-Curve จากโอกาสต่าง ๆ ที่ผู้บริหารสามารถมองเห็นได้ ดังนั้นความยั่งยืนจึงไม่ใช่ตัวเลือกขององค์กรหรือธุรกิจแต่ความยั่งยืนคือสิ่งจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องมี

ทำไมผู้บริหารถึงต้องเรียนหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน หรือ STX — Sustainability Transformation Xponential

คุณธีธัช กล่าวว่า เพราะความยั่งยืนมีหลายมุมมองและหลายมิติ ซึ่งถ้าเรียนทั้งหมดอาจจะมีหลายที่ที่สอนแล้ว แต่สิ่งที่หลักสูตร STX พยายามมุ่งเน้นคือเรื่องของ Climate Action เป็นหลัก โดยสิ่งที่ผู้บริหารทุกท่านจะได้เหมือนกันจากการเรียนในห้องเรียนแน่ ๆ คือเทรนด์และความรู้ต่าง ๆ แต่สิ่งที่หลักสูตร STX ตั้งใจนำเสนอเพิ่มขึ้นมาคือเราไม่ได้นำเสนอแค่มิติภายในประเทศ (Domestic Perspective) แต่คือมิติระหว่างประเทศ (International Perspective) ที่มองเรื่องของวิกฤตเป็นโลกภาพใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะทราบเป้าหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก พร้อมทั้งให้ผู้บริหารได้เรียนรู้ Skill set, tool set และ mindset ด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศจากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำระดับโลกและของประเทศไทย

“Sustainability เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้”

เพราะทุก ๆ เฟรมเวิร์กด้านความยั่งยืนจะมีหัวข้อหลักหนึ่งประการที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ “Stakeholder” หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไปกว่าการเรียนรู้ในหลักสูตร STX ก็คือ Quality Peer หรือการที่มีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้บริหารและผู้นำที่เป็นแนวหน้าของประเทศไทย ที่ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะมาเปลี่ยนแปลงความยั่งยืนขององค์กรของตัวและประเทศไทยพร้อมกับร่วมสร้างการร่วมมือกันระหว่างองค์กร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในหลักสูตร STX รุ่นที่ผ่านมา ที่ผู้เข้าร่วมได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ อัปเดตเทรนด์และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของโลกและประเทศไทยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกัน เพราะสิ่งที่ STX พยายามทำคือ เราจะหา Synergy ระหว่างองค์กรได้อย่างไรบ้าง เราสามารถทำธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่กับตัวเราเอง แต่เราทำกับเพื่อนที่สนใจเรื่องความยั่งยืนได้อย่างไรได้บ้าง เพื่อผลักดัน Climate Action ให้เกิดขึ้นจริง

“หลักสูตร STX รู้จริง ทำจริง กับคนจริง”

นอกจากนี้หลักสูตร STX ยังมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเรียนรู้แบบ Immersive หรือการออกไปเปิดรับประสบการณ์ในประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมความยั่งยืนที่ประเทษสวีเดน เพราะถ้าเราพูดถึงประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม หลายคนอาจจะนึกถึงสหรัฐอเมริกา แต่ถ้านึกถึงประเทศที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนและเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศที่นำหน้าเราไป 10–20 ปี เราจะนึกถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งประเทศสวีเดนก็ติดหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดด้านนี้เสมอ เพราะฉะนั้นเหตุผลที่หลักสูตร STX อยากพาผู้บริหารออกไปเปิดประสบการณ์ก็เป็นไปตามหลักคิดของหลักสูตรก็คือ “Future of us, present of them” เราอยากพาผู้บริหารออกไปเห็นอนาคตของพวกเราได้ในวันนี้เลย เพราะความยั่งยืนในประเทศสวีเดนมีครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ด้านเทคโนโลยี ด้านนโยบาย และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งหลาย ๆ อย่างก็สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งสิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือการที่ผู้บริหารได้เห็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมี การที่เรารู้เรื่องพวกนี้ก่อนจะสามารถทำให้ทำให้เราเตรียมตัวรับความเสี่ยงและเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคตได้ดีมากขึ้น

__________________________________

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร STX

👉https://bit.ly/STX_RISE

__________________________________

ที่มา

Institute of Management Accountants, CFO.com. (2023). 32% of Companies Don’t Consider Climate Change in Risk Analysis. เข้าถึงจาก https://www.cfo.com/news/32-of-companies-dont-consider-climate-change-in-risk-analysis/654750/

--

--

RISE Corporate Innovation Powerhouse
RISE Corporate Innovation Powerhouse

RISE is a leading corporate innovation powerhouse with a mission to drive 1% of South Ease Asia’s GDP.