รู้จัก Phoenix Encounter Method กลยุทธ์เอาตัวรอดจากการดิสรัปทางธุรกิจ

Photo by Sean Pollock on Unsplash

โลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจที่ผกผัน ความคาดเดาไม่ได้ของสงครามและโลกระบาด การมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่พร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้หลายธุรกิจที่ปรับตัวตามไม่ทันต้องถูกดิสรัป และหายออกไปจากตลาดแค่ในเพียงชั่วพริบตา

กลไกสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดขององค์กรคือ “ผู้บริหาร” ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น หากแต่ผู้บริหารทั้งระดับต้นและระดับกลางเองก็ต้องช่วยกันมองหาโอกาส รวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเป็นผู้ได้เปรียบในสภาพการแข่งขันอันโหดร้ายนี้ได้

RISE จึงได้ชวนสองผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารอย่าง ‘รศ. ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี’ ซึ่งเป็นเชี่ยวชาญด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง TIME Labs และ CEO ของบริษัท TheStrategence Co.,Ltd.และคุณ ‘อมรเทพ ทวีพาณิชย์’ ผู้บริหารมากประสบการณ์และผู้ที่ผ่านการถ่ายทอดโดยตรงจาก 4 ศาสตราจารย์แห่ง INSEAD ผู้คิดค้น Phoenix Encounter Method เฟรมเวิร์กการบริหารแห่งอนาคต มาร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ โดยในวงสนทนาวันนั้นประกอบไปด้วย 3 หัวข้อ ได้แก่

  1. Big Picture and Future Trends for Executive หรือภูมิทัศน์ของโลกธุรกิจสมัยใหม่และเทรนด์การบริหารแห่งอนาคต
  2. The Future of Leadership and Management : Transform Through Disruption หรือทักษะแห่งอนาคตที่ผู้บริหารต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้ทัน
  3. ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารแห่งโลกอนาคตด้วยกลยุทธ์ใหม่ หรือ Embracing Modern Management with The Phoenix Encounter Method

ซึ่งเราได้สรุปทุกสิ่งที่คุณต้องรู้รวมมาไว้ให้ในบทความนี้

ทำความรู้จักกับ Phoenix Encounter Method แนวคิดทางการบริหารใหม่ล่าสุดในโลกยุคหลังการระบาดครั้งใหญ่

Photo by JESHOOTS.COM on Unsplash

ก่อนจะไปที่บทสรุปของวงสนทนาในครั้งนี้ เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับเฟรมเวิร์คที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลก อย่าง “The Phoenix Encounter Method” กันเล็กน้อย โดยแนวคิดนี้คือแนวคิดทางการบริหารใหม่ล่าสุดหลังยุคโรคระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย 4 ศาสตราจารย์แห่ง INSEAD สถาบันทางธุรกิจชั้นนำของโลก โดยกลยุทธ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ผนวกกับสถานการณ์โรคระบาดที่แทบไมมีใครคาดคิดเอาไว้ ทําให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทั้งสี่คนรวบรวมจากกรณีศึกษา (Case Studies) ถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบริษัทชั้นแนวหน้า ก่อนจะกลั่นออกมาเป็นแนวคิดสำหรับให้ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรนำไปใช้ประเมินจุดอ่อนของตนเองและหาวิธีป้องกันการดิสรัปที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนจะสายเกินไป

โดยแนวคิดดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการทั้งหมด 3 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมความเข้าใจพื้นฐาน (Groundwork)

คือขั้นตอนที่คุณจะต้องประเมินธุรกิจของตนเองอย่างละเอียด (Proactive
Scanning) โดยวิเคราะห์หาจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจให้ชัดเจน จากนั้นจึงเริ่มประเมินสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันกายนอกทั้งหมด เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับขั้นตอนถัดไป

ขั้นตอนที่ 2 สมรภูมิ (Battlefield)

คือขั้นตอนที่คุณและเพื่อนร่วมกลุ่มจะต้องสร้างสถานการณ์จำลองที่จะมาโจมตีธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการถูก disrupt โดยสตาร์ทอัพหน้าใหม่หรือการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้คุณจะต้องคิดเหมือนเป็นศัตรูของ
ตนเอง และออกแบบการโจมตีให้ธุรกิจของคุณพังราบคาบ

ขั้นตอนที่ 3 ก้าวข้ามอุปสรรค (Breakthrough)

คือขั้นตอนที่คุณต้องออกแบบกลยุทธ์เพื่ออนาคตของธุรกิจตนเอง หลังจากเห็นภาพการโดนทำลายที่ชัดเจนในขั้นตอนก่อนหน้านี้ โดยอาจเริ่มต้นจากการออกแบบแผนธุรกิจของ 100 วันที่จะถึง พร้อมวิธีการปฏิบัติที่นำไปใช้งานได้จริงทันที

แนวคิดนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่ผู้บริหารในบริษัทระดับโลก และเจ้าของกิจการทั้งขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพกว่า 1,500 คนทั่วโลก ที่ต่างได้ทดลองสวมบทบาทของศัตรูในการทำลายองค์กรของตน ก่อนจะรับหน้าที่ชุบชีวิตมันขึ้นมาเหมือนดั่งนกฟินิกซ์ที่ฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่าน และทะยานบินสูงขึ้น ด้วยปีกที่แข็งแกร่งกว่าเดิม แนวคิดนี้จึงเป็นกลยุทธ์แห่งอนาคตที่องค์กรชั้นนำทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

การเปลี่ยนผ่านจากยุค VUCA เข้าสู่ยุค BANI

Photo by Jo Szczepanska on Unsplash

รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรีได้ฉายภาพให้ทุกคนเห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของโลกในช่วง 4–5 ปีที่ผ่านมา ที่ตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) หรือสภาวะที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน จากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น วิกฤติโควิด หรือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นความท้าทายของผู้นำองค์กรในช่วงนั้นที่ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทัน

ต่อมาในยุคหลังการระบาดของไวรัสโควิด โลกก็เข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า BANI (Brittle, Anxious, Nonlinear, Incomprehensible) ซึ่งเป็นสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกโมเดลธุรกิจมีความเปราะบางสามารถถูกดิสรัปได้ตลอดเวลา ไม่มีความชัดเจนและไม่สามารถคาดเดาได้ ผู้นำองค์กรจึงต้องหาทางเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เคยทำแล้วได้ผล อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป

ซึ่งจริง ๆ แล้ว แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีต Andy Grove อดีต CEO ของ Intel ได้กล่าวถึงแนวคิดคล้าย ๆ กันนี้ว่า ผู้ที่ตระหนักพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงถึงจะสามารถอยู่รอดได้ ในหนังสือ Only the Paranoid Survive

ดังนั้นผู้บริหารทุกคนจึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมรับมือกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ผ่านแนวคิดและกลยุทธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Digital Transformation, Data Analytics, Strategic Partnership หรือ Modular product & service

นอกจากนี้คุณอมรเทพยังเสริมอีกว่า การทำธุรกิจเราต้องมองถึงเรื่องของ Diversity หรือความหลากหลายด้วย เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มต่างมีมุมมองแตกต่างกัน มาจากยุคสมัยที่ต่างกัน แต่ล้วนเผชิญความท้าทายที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน เช่นเดียวกับ Disruption ที่เราไม่สามารถยึดโมเดลธุรกิจแบบเดิมได้ เพราะต่อให้เป็นสิ่งที่เราเคยทำแล้วได้ผล แต่ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนเดิมแล้ว

ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งต้องพึ่งเครื่องมือสำคัญอย่าง Proactive Scanning เพื่อคาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดสถานการณ์ใดขึ้นบ้าง

Strategic Insight เครื่องมือสำคัญในการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธ์ศาสตร์

Photo by Alvaro Reyes on Unsplash

หนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ คือการที่ผู้นำในองค์กรสามารถคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ได้ เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยเทคนิคหรือกระบวนการในการคาดการณ์อนาคตนี้เรียกว่า “Foresight” ซึ่งมีความแตกต่างจากเทคนิคการพยากรณ์อย่าง “Forecast” ที่ใช้การต่อยอดจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์เพื่อคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บนพื้นฐานที่ว่าเหตุการณ์ในอดีตสามารถสะท้อนถึงภาพของอนาคต

ในขณะที่ “Foresight” คือการจำลองภาพของอนาคตข้างหน้า (Scenario) ว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนใช้เทคนิคการพยากรณ์แบบมองย้อนหลังอย่าง “Backcasting” ที่กำหนดเป้าหมายในอนาคตให้ชัดเจน แล้วจึงย้อนกลับมามองหากลยุทธ์ที่เป็นไปได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่นการที่บริษัทนำ้มันระดับโลกจำลองภาพอนาคตว่าบนโลกนี้จะไม่มีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหลงเหลืออยู่ แล้วจึงย้อนกลับมามองหากลยุทธ์และวิธีการที่องค์กรจะสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์นั้น

เนื่องด้วยการทำ Strategic Foresight ส่งผลโดยตรงกับการกำหนดกลยุทธ์ในอนาคตของธุรกิจ จึงจำเป็นต้องมีความแม่นยำ ไม่สามารถทำการคาดเดาแบบสุ่มได้ แต่จะต้องอาศัย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

  1. การวาง Framework ที่ชัดเจนถึงปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบในอนาคต เพื่อให้สามารถสร้างภาพจำลองของอนาคตได้ ก่อนนำมาวิเคราะห์หากลยุทธ์ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่ส่งผลให้ในอนาคตมีจำนวนประชากรมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องวางแผนรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
  2. การกำหนดตัวแปรเหนือความคาดหมายหรือ Wildcard เพื่อการสร้างภาพจำลองที่ครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การระบาดของโรคใหม่
Photo by charlesdeluvio on Unsplash

รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์เสริมถึงเรื่องของการทำ Strategic Foresight ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และไม่สามารถยืนยันได้ว่าภาพจำลองอนาคต (Scenario) ที่คาดการณ์ไว้ ภาพไหนเป็นภาพที่ถูกต้องหรือมีโอกาสเกิดขึ้นจริง

เนื่องจากปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของการทำ Strategic foresight มีหลายอย่าง ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำมาใช้ การกำหนดตัวแปรหรือ Parameter ในการวัด ความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการสื่อสารภาพจำลอง (Visualization) ทำให้การทำ Strategic foresight สามารถมีความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้บุคลากรในองค์กรจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ Foresight ตั้งแต่ต้น เพื่อกำหนดปัจจัยให้ครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ผล

หลังจากที่องค์กรได้มีการทำ Strategic foresight แล้ว สิ่งต่อมาที่ควรให้ความสำคัญคือการสร้าง Strategic roadmap เพื่อวางกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายในอนาคต

Photo by Slidebean on Unsplash

เริ่มจากการประเมินศักยภาพขององค์กร เพื่อหาจุดตั้งต้น (จุด A) ตามด้วยการกำหนดเป้าหมาย (จุด B) และวางกลยุทธ์ในการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B ซึ่งสามารถมีได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เลือกใช้ และสามารถมีได้ตั้งแต่แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการทำ Strategic roadmap คืออคติ (Bias) ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารขององค์กร ผู้บริหารของแต่ละแผนก ไปจนถึงผู้บริหารจากต่างอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการกำหนดค่ากลางให้ชัดเจน ผ่านการสร้างกลุ่มที่มีความหลากหลายและระดมไอเดียผ่านการ Brainstorm เพื่อให้ได้กลยุทธ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ทั้งนี้การมีกระบวนการที่ดีในการทำงานก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน

6 ทักษะสำคัญสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ เพื่อความอยู่รอดขององค์กร

Photo by Headway on Unsplash

นอกจากนี้ รศ.ดร. ณัฐสิทธิ์ และคุณอมรเทพได้กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นของผู้นำในการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ พร้อมเอาตัวรอดจากสถานการณ์ธุรกิจที่ไม่แน่นอน ซึ่งสามารถแบ่งออกมาเป็น 6 ทักษะดังนี้

Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์)

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ผู้นำต้องมีคือการคิดเชิงวิพากษ์หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยจะต้องสามารถวาดภาพและเชื่อมโยงเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล และสามารถเลือกประเมินเฉพาะข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ

Self-management (การบริหารจัดการตนเอง)

ผู้นำจำเป็นต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง ทั้งในด้านของการทำงานและด้านของอารมณ์ โดยต้องสามารถทำความเข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกของตนเองได้ ตลอดจนสามารถจัดการความคิดและความรู้สึกดังกล่าวได้ เพื่อให้พัฒนาทักษะและใช้ศักยภาพในการทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม

Technology literacy (ความรู้ด้านเทคโนโลยี)

ในฐานะของผู้นำองค์กรอาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องรู้หลักการทำงานเบื้องหลังของเทคโนโลยีอย่างละเอียด แต่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ สามารถใช้งานได้อย่างไร ครอบคลุมตั้งแต่ทักษะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานสู่ทักษะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การแก้ไขวิดีโอหรือการเขียนรหัสคอมพิวเตอร์ รวมถึงต้องมีความเข้าใจถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อธุรกิจที่ทำ

Interpersonal skill (การสื่อสารระหว่างบุคคล)

องค์กรทุกวันนี้ไม่ได้มองหาแต่คนเก่ง แต่ยังมองหาคนเก่งที่เข้ากับผู้อื่นได้ด้วย ดังนั้นทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว ผู้นำต้องมีความเข้าใจถึงความหลากหลาย และพื้นฐานความแตกต่างของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leading change (ทักษะการนำความเปลี่ยนแปลง)

การเป็นผู้นำในยุคใหม่ไม่ใช่แค่การเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้บุกเบิกหรือเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม ผ่านการสร้างวัฒนธรรมที่ผลักดันให้พนักงานคิดนอกกรอบ สนับสนุนสร้างพื้นที่ในการทดลองไอเดียใหม่ ๆ เปิดรับมุมมองจากภายนอกองค์กร รวมถึงสามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรในการนำการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

Decision making (ทักษะการตัดสินใจ)

ผู้นำที่ดีจะต้องกล้าตัดสินใจและสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ โดยจะต้องเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริงที่ผ่านการวิเคราะห์ และพิจารณาถึงความเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กรและตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

Photo by Sigmund on Unsplash

ท้ายที่สุดแล้วการที่องค์กรจะสามารถทรานส์ฟอร์มได้สำเร็จลุล่วง ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรในองค์กรด้วย โดยทุกคนจะต้องเปิดใจยอมรับว่าความสำเร็จในอดีตไม่สามารถนำองค์กรให้ก้าวต่อไปได้ อีกทั้งยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เปิดใจให้วิธีการหรือคำถามใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ทั้งนี้ในการทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงนี้ การคิดวางแผนยังไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์จริง แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีผิดมีถูกบ้าง แต่การลงมือทดลองทำจริง จะทำให้เราสามารถก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง ดีกว่าการนิ่งเฉยและยอมรับว่าองค์กรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ติดตามข่าวสารสาระความรู้ส่งตรงถึงอีเมลคุณผ่าน RISE Newsletter พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของ RISE Community และรับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมอีเวนต์ด้านนวัตกรรมสุด Exclusive

--

--

RISE Corporate Innovation Powerhouse

RISE is a leading corporate innovation powerhouse with a mission to drive 1% of South Ease Asia’s GDP.